‘Kakeibo’ วิธีออมเงินที่ทำง่ายได้ผลจริงแบบคนญี่ปุ่น
Kakeibo (คะเคโบะ) มาจากภาษาญี่ปุ่นแปลว่า สมุดบัญชีครัวเรือน ถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกในปี 1904 โดยคุณฮานิ โมโตะโกะ นักหนังสือพิมพ์หญิงคนแรกของญี่ปุ่น ที่ต้องการหาวิธีการออมเงินและจัดการงบประมาณรายรับรายจ่ายให้ครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น แนวคิดสำคัญของ ตะเตโบะ คือการชี้ให้เห็นถึงรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยและตัดรายจ่ายตรงส่วนนี้ออกไป
วิธีเก็บเงินแบบ ‘Kakeibo’
หลักการของ Kakeibo ต้องอาศัยความสม่ำเสมอและความพยายามในช่วงแรก เริ่มต้นด้วยการจดบันทึกรายรับรายจ่ายแบบรายวัน และรายสัปดาห์ หรืออาจจะเปลี่ยนไปใช้แอปพลิเคชันจัดการแทนก็ได้ โดยให้แบ่งการบันทึกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น (ค่าเดินทาง, ค่าเช่าบ้าน, ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าอาหาร) รายจ่ายเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และรายจ่ายพิเศษอื่นๆ เป็นต้น ยิ่งบันทึกรายรับรายจ่ายละเอียดก็จะช่วยให้คำนวนเงินคงเหลือสิ้นเดือนได้ดี ยกตัวอย่างเช่น การซื้อกินขนมจุกจิกช่วงระหว่างทำงานในแต่ละวันหากนำมารวมกันแล้วก็คงไม่ใช่จำนวนน้อยๆ พวกนี้ก็สามารถบันทึกลง Kakeibo ได้ด้วยเหมือนกัน
ปรัชญาของ ‘Kakeibo’
สิ่งสำคัญตามปรัชญาของ Kakeibo คือต้องตอบคำถามแต่ละข้อก่อนซื้อของทุกครั้ง โดยแต่ละคำถามจะให้เราได้พูดคุยกับตัวเองทุกครั้งก่อนซื้อสินค้าหรือบริการว่า เราซื้อสิ่งนี้เพราะจำเป็น หรือซื้อเพียงเพราะอยากได้ ซึ่งจะมีชุดคำถามดังนี้
- คุณสามารถอยู่ได้โดยไม่มีของชิ้นนี้ได้ไหม?
- สถานการณ์ทางการเงินของคุณตอนนี้ ซื้อของชิ้นนี้ได้หรือไม่?
- คุณจะใช้สินค้าชิ้นนี้จริง ๆ หรือ?
- บ้านคุณมีพื้นที่พอสำหรับมันรึเปล่า?
- คุณเจอสินค้าชิ้นนี้ได้อย่างไร?
- อารมณ์ของคุณในวันนี้เป็นแบบไหน? (ใจเย็น เครียด อยู่ในช่วงเทศกาล หรือกำลังรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง)
- คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อซื้อมาแล้ว? (มีความสุข ตื่นเต้น เฉยเฉย)
เห็นได้ว่า การออมเงินแบบ Kakeibo ช่วยให้เราได้ทบทวนตัวเองเพิ่มขึ้นอีกหลายชั้น จากเดิมที่เห็นของชิ้นนี้แล้วอาจจะหยิบไปจ่ายตังในทันที ก็จะทำให้เราฉุกคิดการใช้จ่ายแต่ละครั้ง และถึงแม้ว่าจะช่วยให้เราออมเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องตัดความสุขในการใช้จ่ายออกไปทั้งหมด อะไรที่ชอบ และอยากซื้อเพื่อให้รางวัลกับตัวเอง ก็ยังสามารถทำได้ เพียงแต่ให้คิดก่อนซื้อ และไม่ตามใจตัวเองมากเกินไป
การจัดสรรความเสี่ยง
พีระมิดการลงทุน (Investment Risk Pyramid) คือ กลยุทธ์การจัดสรรสินทรัพย์ โดยให้สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ เงินสด และพันธบัตรรัฐบาล เป็นฐานของพีระมิดเนื่องจากฐานของพีระมิดควรที่จะมั่นคงที่สุดและมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับส่วนอื่น ตรงกลางของพีระมิดแสดงถึงสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลาง ได้แก่ หุ้นกู้ กองทุน รวมไปถึงหุ้นกลุ่มบลูชิพ ที่ยังสามารถให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงมากกว่าสินทรัพย์ในส่วนฐานพีระมิด แต่ก็ยังถือว่ามีความปลอดภัยในระดับนึง ขณะที่สินทรัพย์ที่มีความสี่ยงที่สูงกว่า ได้แก่ อนุพันธ์ และหุ้น ให้เป็นยอดของพีระมิด เนื่องจากเป็นพื้นที่เล็กที่สุด ทั้งนี้ เงินที่นำมาลงทุนในส่วนยอดของพีระมิดควรเป็นเงินที่สามารถจะสูญเสียได้โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมา
ตัวอย่างความเสี่ยงและผลตอบแทนของสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ
- เงินฝากธนาคาร มีความปลอดภัยสูง เนื่องจำเป็นการเอาเงินไปฝากที่ธนาคาร โดยธนาคารจะนำเงินฝากของเราไปลงทุนต่อและให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในรูปแบบของดอกเบี้ยเงินฝาก
- พันธบัตรรัฐบาล คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ มีความเสี่ยงสูงกว่าการนำเงินไปฝากธนาคารเล็กน้อยจากราคาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย แต่พันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลหรือรัฐวิสาหะกิจมีโอกาสผิดนัดจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นน้อย
- หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชน มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ระดมทุนสำหรับใช้ในการดำเนินกิจการต่าง ๆ แม้จะได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าพันธะบัตรรัฐบาล แต่ก็มีความเสี่ยงในการผิดนัดจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้นสูงกว่าพันธะบัตรรัฐบาล
- กองทุนรวม มีความเสี่ยงอยู่หลายระดับขึ้นกับว่ากองทุนนั้นนำเงินไปลุงทนในสินทรัพย์อะไร
- หุ้น มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงแต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน เนื่องจากการลงทุนในหุ้นคือการนำเงินไปลงทุนในกิจการเพื่อร่วมเป็นเจ้าของบริษัทนั้น ๆ (ต่างจากการลงทุนในหุ้นกู้ ซึ่งเราจะมีสถานะเป็น เจ้าหนี้ ของบริษัทนั้น ๆ ) เมื่อบริษัทที่เราถือหุ้นมีกำไรมากส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนมากตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม หากบริษัทขาดทุนหรือล้มละลาย ผู้ถือหุ้นก็ต้องร่วมรับผิดชอบกับการสูญเสียนี้เช่นเดียวกัน
- อนุพันธ์ มีความเสี่ยงที่สูงมากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมด แต่ก็มีโอกาสทำกำไรได้สูงมากเช่นเดียวกัน
ดังนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่ไปกับผลตอบแทนของการลงทุน คือ ระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนเต็มใจและสามารถยอมรับได้ เพื่อนำไปสู่การจัดสรรเงินลงทุนที่สอดคล้องกับความต้องการของตนเองมากที่สุด ตัวอย่างเช่น ผู้ลงทุนที่อายุน้อย แม้จะสามารถรับความเสี่ยงที่สูงได้เพราะยังมีเวลาในการออมและการลงทุนอีกมาก แต่หากไม่สามารถยอมรับผลตอบแทนที่ติดลบได้ในบางปี ก็ควรลงทุนเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ แต่หากสามารถยอมรับกับผลตอบแทนที่ติดลบได้ ก็สามารถเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในกองทุนหุ้นเพราะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าในระยะยาว เป็นต้น
3 พลังมหัศจรรย์สร้างเงินออมก้อนโต
การออมเงินเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างความมั่นคงทางการเงินในอนาคต การออมเงินต้องมีการวางแผนและความมุ่งมั่ง โดยมี 3 ปัจจัยหลักที่ควรคำนึงถึง ได้แก่ เงินต้น, ระยะเวลา, และอัตราผลตอบแทน
- เงินต้น
เงินต้นคือจำนวนเงินที่เราตั้งใจจะออมในแต่ละงวด ยิ่งเราสามารถออมเงินได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสร้างโอกาสให้เรามีเงินออมในอนาคตได้มากขึ้น เงินต้นที่มากจะช่วยให้เราสามารถรับผลตอบแทนที่มากขึ้นในอนาคต
- ระยะเวลา
ระยะเวลาในการออมเงินก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ การออมเงินในระยะเวลาที่ยาวนานจะช่วยให้เราสามารถสร้างความมั่งคั่งและความปลอดภัยทางการเงินได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้เราสามารถรับผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว
- อัตราผลตอบแทน
อัตราผลตอบแทนคืออัตราเฉลี่ยที่เราได้รับจากการออมเงินในแต่ละงวด การเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีอัตราผลตอบแทนที่ดีจะช่วยให้เงินออมของเราเติบโตในระยะยาว ทั้งนี้ การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงก็จะมีความเสี่ยงที่ต้องแบบรับสูงเช่นเดียวกัน
ดังนั้นการวางแผนออมเงินในระยะยาวอย่างเป็นระบบโดยคำนึงถึงเงินต้น ระยะเวลา และอัตราผลตอบแทน สามารถช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินเพื่อชีวิตที่อิสระและเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตในอนาคตได้
สาระน่ารู้เกี่ยวกับ “เงินเฟ้อ”
สาระน่ารู้เกี่ยวกับ “เงินเฟ้อ”
เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการ "ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง" ส่งผลให้เงินจำนวนเดิมในมือของเรามีค่าลดน้อยลง หรือเราต้องใช้เงินจำนวนเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ในปริมาณที่เท่าเดิม กล่าวง่าย ๆ คือ เมื่อ 5 ปีที่แล้วเราสามารถซื้อข้าวกะเพราไก่และไข่ดาวได้ในราคา 50 บาท แต่ในปัจจุบันเงิน 50 บาทสามารถซื้อได้เพียงข้าวกะเพราไก่อย่างเดียว โดยไข่ดาวได้หายไปกับการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ โดยเงินเฟ้อเกิดขึ้นมาจาก 2 สาเหตุหลักได้แก่
- ความต้องการซื้อสินค้าและบริการมีมากขึ้น ทำให้สินค้าและบริการไม่เพียงพอ "ผู้ขายจึงถือโอกาสขึ้นราคา"
- ผลผลิตขาดแคลนจากปัญหาด้านการผลิต เช่น โรคระบาดทำให้หมูตาย หรือ "ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น" ผู้ผลิตต้องแบกรับต้นทุนที่มากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้องขึ้นราคาสินค้าและบริการ
4 วิธีจัดการเงินฉบับคน Gen Y
4 วิธีจัดการเงินฉบับคน Gen Y
คน Generation Y คือคนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2523 ถึง พ.ศ. 2537 มีเอกลักษณ์ในการรักอิสระและมีความเป็นตัวเองสูง ไม่ยึดติดกับกรอบและค่านิยมเดิม ๆ โดยคนกลุ่มนี้เกิดและโตท่ามกลางเทคโนโลยีและสื่อโซเชียลมีเดีย ทำให้มีวิธีคิดและวิธีใช้ชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ คน Gen Y มักจะใช้จ่ายเงินในสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสุข ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว อาหาร เครื่องดื่มราคาสูง หรือสินค้าฟุ้มเฟือย พวกเขามีความกล้าในการตัดสินใจและกล้าได้กล้าเสีย ในทางกลับกัน พวกเขาก็อาจมีปัญหาในการจัดการเรื่องการเงินและหนี้สิน เนื่องจากมีความต้องการในการใช้จ่ายเพื่อความสุขและความพอใจของตนเองเป็นหลัก
- ควบคุมค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ด้วยการทำบันทึกรายรับ - รายจ่ายบนแอพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจลักษณะการใช้จ่ายของตนเอง และสามารถปรับการใช้จ่ายให้เกิดการออมเพิ่มขึ้นได้
- วางแผนในการจัดการหนี้สินในแต่ละเดือนให้หมดตั้งแต่วันที่เงินเดือนออก ทั้งค่าที่พัก ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่างวดรถ ค่าหนี้บัตรเครดิต เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสุขภาพทางเงินที่ดี การผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนไม่ควรเกิน 40 % ของรายได้
- "วางแผนเงินออม" เพื่อเป็นการนำเงินที่เหลือไปใช้จ่ายอื่น ๆ ได้ ซึ่งการตั้งเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญเพราะจะทำให้เกิดแรงจูงใจในการออมเพิ่มมากขึ้น โดยเราควรออมเงินอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนอย่างน้อย 10% ของรายได้ และมุมมองทางการเงินของคน Gen Y ที่กล้าได้กล้าเสีย และสามารถรับความเสี่ยงได้สูง จึงเหมาะที่จะลองผิดลองถูกในเรื่องการลงทุน โดยสามารถนำเงินออมส่วนใหญ่ 70-80% ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้น กองทุนรวมหุ้น เพื่อผลตอบแทนที่สูงและงอกเงย แต่ก็ควรกันเงินราว 20-30% ของเงินออม เก็บไว้ในรูปแบบที่มีความปลอดภัย เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้นกู้ เพื่อความมั่นคงในอนาคตด้วย
- การวางแผนภาษี จะทำให้เรารู้ว่าการลงทุนใดสามารถช่วยลดหย่อนภาษีได้บ้างซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนไปในตัว นอกจากนี้ เมื่อภาระทางภาษีลดลงก็จะทำให้ผู้เสียภาษีมีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถนำเงินส่วนนี้ไปลุงทุนเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางการเงินได้
ข้อมูลเครดิตสำคัญอย่างไร?
เครดิตบูโร หรือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บข้อมูลบัญชีสินเชื่อและประวัติการชำระสินเชื่อทุกประเภทของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลซึ่งส่งมาจากสถาบันการเงินและบริษัทที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร โดยข้อมูลเครดิตที่จัดเก็บหรือรายงานในเครดิตบูโรแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
- ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงตัวตนลูกค้า เช่น ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด สถานภาพการสมรส อาชีพ เลขที่บัตรประชาชน และกรณีที่เป็นนิติบุคคลจะเป็น ชื่อ สถานที่ตั้ง เลขที่ทะเบียนนิติบุคคล เป็นต้น
- ข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติและประวัติการชำระสินเชื่อ โดยจำแนกเป็นรายบัญชีที่มีอยู่ในแต่ละสถาบันการเงินและบริษัทสมาชิก ตัวอย่างเช่น 1. สรุปข้อมูลบัญชีสินเชื่อ ประกอบไปด้วยข้อมูลของประเภทและเลขที่บัญชีของสิเชื่อ ชื่อผู้ให้สินเชื่อ วงเงินที่ได้รับอนุมัติ และวงเงินที่ใช้ไป 2. สถานะของบัญชี เช่น ปกติ ปิดบัญชี พักชำระหนี้ ค้างชำระหนี้ เป็นต้น 3. รายระเอียดการชำระหนี้ ซึ่งจะแสดงประวัติการชำระหนี้ผ่านมา ทั้งที่ชำระตรงเวลา ชำระล่าช้า หรือผิดนัดชำระ 4. ข้อมูลอื่นๆ เช่น วันที่เปิดบัญชี วันที่ชำระหนี้ล่าสุด วันที่ปิดบัญชี วันที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นต้น
เครดิตบูโรเปรียบเสมือนเป็นถังข้อมูลที่บ่งบอกพฤติกรรมในเรื่องการก่อหนี้ และการชำระหนี้ที่ใหญ่ที่สุดของระบบการเงินไทย โดยมีความเกี่ยวข้องด้วยกัน 3 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่
1. ระบบเศรษฐกิจไทย
- ใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยของระบบการเงิน ด้วยการข้อมูลเชิงสถิติมาวิเคราะห์ให้เห็นทิศทาง และความเสี่ยงของสินเชื่อที่อยู่ในระบบ
- เป็นเครื่องมือในการอ่านสัญญาณเศรษฐกิจของสถาบันต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์และออกมาตรการสำหรับการรับมือ
- นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงิน เป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ของระบบสถาบันการเงินในการนำมาใช้บริหารความเสี่ยงในการให้สินเชื่อ
2. สถาบันการเงินในฐานะผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้
- เป็นระบบการบริหารความเสี่ยงในการให้กู้ยืม ป้องกันการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงต่อระบบสถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจไทย
- ใช้ตรวจเช็กประวัติของลูกหนี้เพื่อวิเคราะห์การชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างเพียงพอว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และมีภาระหนี้อยู่กับสถาบันการเงินอื่นมากน้อยเพียงใด
3. ผู้กู้หรือลูกหนี้
- ใช้ตรวจสอบข้อมูลเครดิตหรือสุขภาพทางการเงินของตนเอง เพื่อเตรียมพร้อมวางแผนก่อนยื่นขอสินเชื่อ
- ตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ของทุกข้อมูลบัญชีสินเชื่อ หากไม่ถูกต้องสามารถขอแก้ไขได้
- มีโอกาสที่จะได้ลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ขอสินเชื่อที่มีประวัติการผ่อนชำระดี
- ช่วยให้รู้เท่าทันและป้องกันภัยไซเบอร์ทางการเงิน สามารถเช็คว่าเรามี “หนี้งอก” โดยที่เราไม่ได้ก่อหรือไม่
ที่มา
- K, S. (2023, February 13). ความสำคัญของเครดิตบูโร มาทำความรู้จักกันให้มากขึ้น ในโพสต์เดียว. บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ - National Credit Bureau. https://www.ncb.co.th/ncb-infographic/credit-bureau-importance-economy-2/
- เครดิตบูโร. ธนาคารแห่งประเทศไทย. (n.d.). https://www.bot.or.th/th/satang-story/managing-debt/creditbureau.html
10 เทคนิค ประหยัดเงิน เก็บไว้ออมดีกว่า
การออมเงิน เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่เราได้ยินมาตั้งแต่เด็ก แต่รู้ไหมว่าการออมเงินในปัจจุบันอาจเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน เพราะในยุคที่ข้าวของแพงขึ้น และการมี Social Media ที่เข้าถึงได้ง่าย ยิ่งจูงใจให้เราสามารถซื้อของได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ทันได้คิดทบทวน วันนี้น้องเพนกวินได้รวบรวม 10 เทคนิคง่าย ๆ เพื่อช่วยประหยัดเงิน แล้วเก็บไว้ออมดีกว่ามาฝากกันครับ
1. เช็คความจำเป็นก่อนใช้จ่าย
ใช้เวลาในการทบทวนความจำเป็นก่อนใช้เงิน เพราะการมีเวลาในการคิดและตัดสินใจ จะทำให้เราสามารถหักห้ามใจในการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและมองเห็นความจำเป็นในการใช้จ่ายเงินมากยิ่งขึ้น
2. เดินห้างสรรพสินค้าให้น้อยลง
การออกไปห้างสรรพสินค้าเป็นการดึงดูดให้เราใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และมีความต้องการสินค้าบางอย่างที่ไม่จำเป็น ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่จะดึงดูดให้เราใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น
3. เคลียร์หนี้สินให้หมด
เราควรเคลียร์หนี้ให้หมด เพื่อจะได้มีเงินเหลือไว้สำหรับการออม เพราะหากยังคงมีหนี้ในการวางแผนเงินออมในอนาคตจะมีการติดขัด
4. ทำรายรับ – รายจ่าย
การจดบันทึกรายรับ - รายจ่าย จะทำให้เรารับรู้ภาพรวมของค่าใช้จ่ายในทุกส่วน ซึ่งจะลดโอกาสในการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยในแต่ละเดือน
5. ห้ามใช้แบงค์ 50
วิธีนี้ถือเป็นวิธีที่ดีและทำได้ทุกวัย เนื่องจาก แบงค์ 50 มีโอกาสได้ยาก จึงทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายรายวันอย่างแน่นอน
6. กำหนดเงินใช้เป็นรายวัน
หลังจากได้รับเงินเดือนมาแล้ว ควรมีการวางแผนค่าใช้จ่ายในแต่ละวันว่าควรใช้จ่ายเท่าไร เพื่อป้องกันการใช้เงินเกินความจำเป็น
7. ลดการใช้บัตรเครดิต
บัตรเครดิตแม้จะทำให้เกิดความสะดวกและมีคะแนนสะสมให้ก็ตาม แต่หากขาดการวางแผนทางการเงินที่ดี ก็ส่งผลให้เกิดเป็นหนี้ก้อนโตเช่นกัน
8. งดใช้เงินโบนัส
โบนัสที่ได้มาถือเป็นโอกาสของคนวัยทำงานในการมีเงินก้อนโตเก็บไว้ ซึ่งเงินก้อนนี้จะเป็นเงินไว้ช่วยเหลือและใช้จ่ายได้ในอนาคต
9. เปิดบัญชีเงินฝากประจำ
บัญชีเงินฝากประจำทำให้เราไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และได้รับผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากแบบปกติอีกด้วย
10. เก็บเงินก่อนใช้จ่าย
โดยเมื่อรับเงินเดือนมาแล้วก็ควรคำนวณค่าใช้จ่ายที่จำเป็นก่อน จากนั้นกำหนดจำนวนเงินที่ต้องเก็บทันที
6 ความเสี่ยงของวัยเกษียณอายุ
"ความเสี่ยง" เป็นเรื่องที่อยู่คู่กับชีวิตผู้คนมาตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะอยู่ในบ้านเราก็ยังต้องมีความเสี่ยง เช่น ความเสี่ยงลื่มหกล้มในห้องน้ำ ความเสี่ยงจากไฟฟ้าลัดวงจร ความเสี่ยงจากไฟใหม้ หรือแม้กระทั่งความเสี่ยงจากการตกบันได ซึ่งล้วนแต่นำความสูญเสียและสร้างความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินโดยไม่คาดคิด เช่นเดียวกับชีวิตหลังเกษียณ ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่อาจยาวนานถึง 1 ใน 3 ของชีวิตหรือมากกว่า และอาจเผชิญกับภัยคุกคามที่ส่งผลให้การดำเนินชีวิตหลังเกษียณไม่มีความสุขและไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งหากรู้ล่วงหน้าได้ก่อนว่าจะมีเหตุการณ์ใดที่นำไปสู่ความเสียหายในอนาคต ก็สามารถหาทางลดความเสี่ยงหรือป้องกันได้ ทำให้ไม่เกิดความสูญเสียต่อร่างกาย ทรัพย์สิน รวมทั้งจิตใจ
ทั้งนี้ แอดมินได้รวบรวมความเสี่ยงของวัยเกษียณอายุไว้ 6 ประเด็น มีรายละเอียด ดังนี้
- ความเสี่ยงอายุยืนยาว: อนาคตเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ดังนั้น ในการใช้ชีวิตจำเป็นต้องวางแผนทางการเงินให้มีสำหรับใช้จ่ายในอนาคตอย่างเพียงพอ
- ความเสี่ยงการโดนออกจากงานก่อนวัยเกษียณ: การที่โดนออกจากงานก่อนวัย เช่น ให้ออกจากกงานในวัย 50 ทั้งที่ตามแผนคือายุ 60 ปี ดังนั้น การที่เกษียณก่อนวัยทำให้เราต้องใช้เงินเพิ่มมากขึ้นในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
- ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อในอนาคต: เงินเฟ้อจะส่งผลให้มูลค่าเงินในอนาคตลดน้อยลง เช่น เงิน 1 ล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเท่ากับ 7 แสนกว่าบาทในปัจจุบัน ดังนั้น การฝากผ่าน Bank อย่างเดียว จะได้ดอกเบี้ยน้อยและมูลค่าเงินเราลดลง
- ความเสี่ยงในการลงทุน: การลงทุนทั้งหลัง-ก่อนเกษียณล้วนมีความสำคัญ โดยก่อนเกษียณเราจะลงทุนเชิงรุก แต่หลังเกษียณจะเน้นเชิงรับ เนื่องจากกันพลาด เพราะตอนนั้นเราไม่มีรายได้มาทดแทน ดังนั้นหากหลังเกษียณการเงินมีปัญหาเราจะใช้จ่ายได้น้อยลง
- ความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต: การใช้ชีวิตหลังเกษียณที่แตกต่างกันส่งผลต่อเงินที่ต้องเก็บไว้ใช้ ยิ่งมีการบริโภคนิยมหลังเกษียณมากเท่าไร ก็จะต้องเก็บเงินมากขึ้นเท่านั้น
- ความเสี่ยงค่าใช้จ่ายสุขภาพหลังเกษียณ: ปัญหาด้านสุขภาพเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ดังนั้น ยิ่งเกิดเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลจะยิ่งแพงขึ้น เราจึงควรมีการเก็บเงินไว้ให้เยอะที่สุด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับอาการเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต