หน้าแรก > ความรู้ด้านเงินออม > การจัดสรรความเสี่ยง

การจัดสรรความเสี่ยง

BY
Aomplearn
October 9, 2023
share
share

การจัดสรรความเสี่ยง

พีระมิดการลงทุน (Investment Risk Pyramid) คือ กลยุทธ์การจัดสรรสินทรัพย์ โดยให้สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ เงินสด และพันธบัตรรัฐบาล เป็นฐานของพีระมิดเนื่องจากฐานของพีระมิดควรที่จะมั่นคงที่สุดและมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับส่วนอื่น ตรงกลางของพีระมิดแสดงถึงสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลาง ได้แก่ หุ้นกู้ กองทุน รวมไปถึงหุ้นกลุ่มบลูชิพ ที่ยังสามารถให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงมากกว่าสินทรัพย์ในส่วนฐานพีระมิด แต่ก็ยังถือว่ามีความปลอดภัยในระดับนึง ขณะที่สินทรัพย์ที่มีความสี่ยงที่สูงกว่า ได้แก่ อนุพันธ์ และหุ้น ให้เป็นยอดของพีระมิด เนื่องจากเป็นพื้นที่เล็กที่สุด ทั้งนี้ เงินที่นำมาลงทุนในส่วนยอดของพีระมิดควรเป็นเงินที่สามารถจะสูญเสียได้โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมา

ตัวอย่างความเสี่ยงและผลตอบแทนของสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ

  1. เงินฝากธนาคาร มีความปลอดภัยสูง เนื่องจำเป็นการเอาเงินไปฝากที่ธนาคาร โดยธนาคารจะนำเงินฝากของเราไปลงทุนต่อและให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในรูปแบบของดอกเบี้ยเงินฝาก
  2. พันธบัตรรัฐบาล คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ มีความเสี่ยงสูงกว่าการนำเงินไปฝากธนาคารเล็กน้อยจากราคาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย แต่พันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลหรือรัฐวิสาหะกิจมีโอกาสผิดนัดจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นน้อย
  3. หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชน มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ระดมทุนสำหรับใช้ในการดำเนินกิจการต่าง ๆ แม้จะได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าพันธะบัตรรัฐบาล แต่ก็มีความเสี่ยงในการผิดนัดจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้นสูงกว่าพันธะบัตรรัฐบาล
  4. กองทุนรวม มีความเสี่ยงอยู่หลายระดับขึ้นกับว่ากองทุนนั้นนำเงินไปลุงทนในสินทรัพย์อะไร
  5. หุ้น มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงแต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน เนื่องจากการลงทุนในหุ้นคือการนำเงินไปลงทุนในกิจการเพื่อร่วมเป็นเจ้าของบริษัทนั้น ๆ (ต่างจากการลงทุนในหุ้นกู้ ซึ่งเราจะมีสถานะเป็น เจ้าหนี้ ของบริษัทนั้น ๆ ) เมื่อบริษัทที่เราถือหุ้นมีกำไรมากส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนมากตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม หากบริษัทขาดทุนหรือล้มละลาย ผู้ถือหุ้นก็ต้องร่วมรับผิดชอบกับการสูญเสียนี้เช่นเดียวกัน
  6. อนุพันธ์ มีความเสี่ยงที่สูงมากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมด แต่ก็มีโอกาสทำกำไรได้สูงมากเช่นเดียวกัน

ดังนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่ไปกับผลตอบแทนของการลงทุน คือ ระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนเต็มใจและสามารถยอมรับได้ เพื่อนำไปสู่การจัดสรรเงินลงทุนที่สอดคล้องกับความต้องการของตนเองมากที่สุด ตัวอย่างเช่น ผู้ลงทุนที่อายุน้อย แม้จะสามารถรับความเสี่ยงที่สูงได้เพราะยังมีเวลาในการออมและการลงทุนอีกมาก แต่หากไม่สามารถยอมรับผลตอบแทนที่ติดลบได้ในบางปี ก็ควรลงทุนเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ แต่หากสามารถยอมรับกับผลตอบแทนที่ติดลบได้ ก็สามารถเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในกองทุนหุ้นเพราะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าในระยะยาว เป็นต้น

TAG
-
Share this post

ออมเพลิน

© 2023 Aomplearn. All rights reserved
Privacy Policy